การปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการตรวจสอบระดับ CO2 ภายในอาคาร
Posted by Supatcha Swangchaeng on
การปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการตรวจสอบระดับ CO2 ภายในอาคาร
กฎหมายคุณภาพอากาศภายในอาคาร
เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่าระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ภายในอาคารนั้นสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย รวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และอาการเหนื่อยล้า โรคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณที่มีความเข้มข้นต่ำถึง 500 ppm ซึ่งมีความเข้มข้นไม่ห่างจากระดับ 'อากาศบริสุทธิ์' ในบริเวณกลางแจ้งทั่วไปที่จะเข้มข้นประมาณ 400 ppm นอกจากนี้ ระดับ CO2 ภายในอาคารยังสามารถใช้เป็นตัวแทนในการระบุมาตรฐานการระบายอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในอากาศด้วย
เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวต่อผู้อยู่อาศัยในอาคารและผู้มาติดต่อ หลายรัฐบาลทั่วโลกรวมไปถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และ เยอรมนี ได้ออกกฎหมายหรือกำลังพิจารณาข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับการตรวจสอบระดับ CO2 ภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นในสำนักงาน โรงงาน โรงเรียน และสถานที่ทำงานอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร ข้อกำหนดอาคาร(2010) ซึ่งสนับสนุนกฎหมายด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน(1974) ได้กำหนดให้มีการดำเนินการควบคุมหากความเข้มข้นของ CO2 ในอาคารไม่ให้สูงเกิน 1,500 ppm โดยระบุให้พื้นที่ทีมีกิจกรรมทางกายภาพสูงนั้นควรมีระดับความเข้มข้นอยู่ที่ไม่เกิน 800 ppm กฎหมายนี้ยังระบุคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเครื่องตรวจวัด CO2 , วิธีการวัดค่า CO2 ที่แม่นยำ และแนะนำวิธีการในการลดระดับ CO2 ภายในอาคารด้วย
ข้อกำหนดในการตรวจสอบ CO2
เครื่องวัด CO2 มีหลายยี่ห้อและหลายรุ่น แต่ในจำนวนนั้น มีเพียงไม่กี่รุ่นที่ให้ผลลัพธ์การตรวจสอบความเข้มข้นภายในอาคารได้อย่างแม่นยำ
- ระดับ CO2 ในอาคารสามารถผกผันได้ตั้งแต่ค่าต่ำถึง 400 ppm ไปจนถึงมากกว่า 5,000 ppm ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดเครื่องวัดก็ควรจะต้องสามารถครอบคลุมค่าความต่างในระดับนี้ได้
- เครื่องวัดควรจะวัดค่า CO2 โดยตรง ไม่ควรใช้เครื่องที่อ่านค่า CO2 ด้วยการประเมินจากปัจจัยอื่น เช่น ระดับออกซิเจน
- ต้องปรับเทียบเครื่องวัดเพื่อให้แน่ใจว่าการอ่านค่าถูกต้อง และควรใช้ภายในระยะเวลาการปรับเทียบที่แนะนำเท่านั้น เครื่องวัดที่ปรับเทียบได้เองจะช่วยประหยัดเวลาและเงินของผู้ใช้
แนวทางปฏิบัติสำหรับการใช้เครื่องวัด CO2
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการอ่านค่าที่แม่นยำและถูกต้องนั้นจะสามารถแสดงถึงความเข้มข้นของ CO2 ที่ผู้ใช้อาคารจะต้องเผชิญหน้าจริง ๆ ได้
- ควรมีเครื่องวัดแยกต่างหากในแต่ละห้องหรือพื้นที่ทำงาน
- ควรวางเครื่องวัดไว้ที่ระดับประมาณความสูงของศีรษะ ห่างจากผู้อาศัยอย่างน้อย 0.5 ม. เพื่อหลีกเลี่ยงการวัดลมหายใจออกโดยตรงซึ่งจะทำให้อ่านค่าได้สูงจนเกิดค่าเพี้ยน
- นอกจากนี้ยังควรวางเครื่องวัดให้ห่างจากหน้าต่าง ประตู เครื่องระบายอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงการอ่านค่าที่ต่ำผิดปกติในบริเวณเหล่านั้น
- ควรวัดในช่วงเวลาที่จำเป็นตลอดทั้งวันทำงาน ให้บ่อยมากพอที่จะบันทึกการเปลี่ยนแปลงในระดับการอยู่อาศัยในช่วงเวลาหนึ่งได้
- ควรเก็บบันทึกเพื่อให้สามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจแนวโน้มระยะยาวได้ วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการใช้เครื่องวัด CO2 ที่บันทึกข้อมูลได้เลย ซึ่งตัวเครื่องจะไม่เพียงแต่วัดค่าเท่านั้น แต่ยังจัดเก็บโดยอัตโนมัติ เช่น จัดเก็บผ่านบริการข้อมูลบนคลาวด์
วิธีการลดระดับ CO2
ผู้รับผิดชอบภายในอาคารไม่ได้มีเพียงหน้าที่ตรวจวัดความเข้มข้นของ CO2 เท่านั้น แต่ยังต้องหาทางลดระดับลงมาให้อยู่ในระดับที่แนะนำอีกด้วย โดยการที่จะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องดำเนินการทั้งจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน ดังนั้นควรมีการหารือเรื่องผลลัพธ์ของการตรวจสอบวัดค่ากับทุกคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องวิธีการใช้และจัดการพื้นที่ในอาคาร รวมถึงผู้อยู่อาศัยโดยทั่วไปด้วย
- ปรับปรุงระบบระบายอากาศตามธรรมชาติโดยเปิดหน้าต่าง ช่องลม และประตู โดยเปิดทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ห้ามเปิดประตูหนีไฟ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีในการหมุนเวียนอากาศให้เต็มห้องเมื่อไม่มีคนอยู่
- ใช้เครื่องระบายอากาศ รวมไปถึงพัดลมและเครื่องปรับอากาศ เพื่อนำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้าสู่อาคาร อย่าลดระดับเครื่องระบายอากาศหากจำนวนคนในพื้นที่ลดลงชั่วคราว อัตราการระบายอากาศควรอ้างอิงตามอัตราการมีผู้อยู่อาศัยสูงสุด "โดยปกติ" ของพื้นที่
- หากเป็นไปได้ ให้ลดระดับอัตราการเข้าพักในห้องหรือพื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น การลดเวลาทำงานเพื่อลดจำนวนผู้อยู่อาศัยสูงสุด
- พิจารณาวิธีการจัดสรรพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่ใช้สำหรับออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือร้องเพลงจะต้องมีการระบายอากาศในระดับที่สูงขึ้นเพื่อรักษาความเข้มข้นของ CO2 ให้อยู่ภายในระดับขีดจำกัดที่แนะนำ
การดูแลให้ผู้ใช้อาคารมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าระดับ CO2 จะลดลงถึงระดับที่แนะนำแล้ว ก็ยังคงต้องดำเนินการตรวจสอบวัดค่าต่อไปเนื่องจากตลอดทั้งปีนั้นมักจะมีปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป
สุดท้ายนี้ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว การตรวจสอบวัดค่า CO2 ยังมีบทบาทสำคัญในการบำรุงรักษาอาคาร เนื่องจากความผิดพลาดของระบบระบายอากาศและระบบปรับอากาศจะถูกเปิดเผยได้ทันทีผ่านข้อมูลของระดับ CO2 ที่วัดค่าได้
Source Reference: